ไคเซ็น
ไคเซ็น หมายถึง "การปรับปรุงให้ดีขึ้น (อย่างต่อเนื่อง)" เป็นปรัชญาการทำงานและการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น ว่าต้องทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงแบบไคเซ็นเป็นการปรับปรุงแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทุกคนในองค์กรสามารถมีส่วนร่วมได้ ทั้งการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ต่อด้วยการลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง
การทำ "ไคเซ็น" ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานประจำเช่นเดียวกับ 5ส ซึ่งมีคุณค่าในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรจากการได้ฝึกมองหาปัญหา-ความสูญเปล่า การได้คิด และการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอีกมาก เช่น
- พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากทำงานได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ลดลง เช่น ต้นทุนจากการเกิดของเสีย ต้นทุนด้านพลังงาน แรงงาน วัตถุดิบและวัสดุ ฯลฯ
"กิจกรรมไคเซ็น" เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลงานการปรับปรุงขึ้นอย่างมากมายภายในองค์กร ถือเป็นกิจกรรมที่จะขาดเสียมิได้ ปัจจุบันมีตัวอย่างไคเซ็นดี ๆ จากหลากหลายองค์กรนำเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตัวพนักงานและองค์กรเป็นอย่างยิ่ง
การให้บริการของสมาคมฯ (ส่วนของการให้คำปรึกษา)
-
ให้คำปรึกษาด้านการสร้างระบบไคเซ็น และการประยุกต์ใช้หลักการและเครื่องมือของไคเซ็น
จำนวนวัน : 6 - 10 วัน
ประโยชน์ที่จะได้รับ
- เข้าใจความสำคัญและหลักการของไคเซ็น ในระดับที่จะสามารถขจัดความสูญเปล่า และยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้ พร้อมได้รับความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็น
- ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการบรรลุเป้าหมายของแต่ละผลงานไคเซ็น
- ได้ "กิจกรรมการปรับปรุงงาน " ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนอย่างเป็นระบบ มีการขับเคลื่อนที่ดีที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลต่อนโยบายและเป้าหมายขององค์กร
-
ให้บริการเฉพาะตามความต้องการของแต่ละองค์กร
จำนวนวัน : ระบุหลังจาก Fact Finding
ทีมที่ปรึกษา : ที่ปรึกษาจากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
ค่าใช้จ่าย : 25,000 บาท / man-day
ไคเซ็นในสำนักงาน
ผมได้มีโอกาสไปบรรยายไคเซ็นในส่วนของสำนักงานบ่อยๆ การบรรยายแต่ละครั้งก็จะให้ผู้เข้าอบรมลองเขียนไคเซ็นงานของตัวเองออกมาด้วย แต่หลายครั้งพบว่าคิดกันไม่ค่อยออก ที่คิดออกเขียนได้ก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ จำพวกติดป้าย แขวนป้าย อันที่จริงการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ก็ถือเป็นไคเซ็นที่ดี แต่หากเรามองเนื้องานได้ละเอียดขึ้น ตระหนักรู้ปัญหาในการทำงานมากขึ้น สิ่งที่จะนำมาปรับปรุงก็ย่อมจะส่งผลดีต่องานของเรามากขึ้นตามไปด้วย
ความสูญเปล่าในสำนักงานนั้น แท้จริงก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนการผลิตหรอกครับ เพียงแต่ความคิดยึดติดว่าต้องทำตามกฎระเบียบ (แบบเดิมๆ) ที่ปฏิบัติกันมา ยังมีอยู่มาก หรือบางครั้งอยากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแต่ก็ต้องไปคุยกับนายหลาย ๆ คน ต้องผ่านผู้บริหารอนุมัติ และความยุ่งยากอื่นๆ (ซึ่งไม่น่าจะยุ่ง) อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้การปรับปรุงในส่วนของสำนักงานไปได้ช้ากว่าที่ควร
ตัวอย่างความสูญเปล่าในงานสำนักงานนั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
- การแก้ไข ทำซ้ำ
อาจเกิดจากการที่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดให้คนทำงานเข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไร คนทำก็ไม่ถาม พอทำออกมาแล้วก็ใช้ไม่ได้ ต้องกลับไปทำใหม่ หรือเกิดจากการที่ไม่ได้วางแผน วางรูปแบบกันไว้ก่อน หรือมีความ ไม่ชัดเจน เข้าใจยาก แต่หลายครั้งก็เกิดจากความไม่รอบคอบ ความสะเพร่าของผู้ทำเอง อาจเป็นงานที่มีความละเอียด ซับซ้อน ซึ่งหากไม่เอาใจใส่อย่างเพียงพอ ไม่คิดหาเครื่องทุ่นแรง หรือหาวิธีที่จะช่วยลดความผิดพลาดเข้ามาช่วยก็จะผิดพลาดได้ง่าย
- การค้นหา
หลักๆแล้วก็เนื่องมาจากการไม่ได้ทำ 5ส นั่นเอง ไม่สะสางของที่ไม่จำเป็นออกไป จัดเก็บของไม่เป็นระเบียบ ไม่เข้าที่เข้าทาง ไม่เป็นหมวดหมู่ ไม่ติดป้ายชี้บ่งให้รู้ให้เห็นได้ง่าย เป็นต้น และอย่าลืมว่านอกจากสิ่งของที่จับต้องได้แล้ว บรรดาไฟล์และข้อมูลต่างๆที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องทำ 5ส ด้วยเช่นเดียวกัน
- การรอคอย
ที่พบกันเป็นประจำก็เรื่องรอเซ็นนี่ล่ะครับ หัวหน้าไม่เซ็น งานก็ไปต่อไม่ได้ บางครั้งรอกันเป็นวันๆ เลยทีเดียว ส่วนคนเซ็นก็มีอะไรมาให้เซ็นเยอะเหลือเกิน งานก็มากมาย ต้องไปนู่นไปนี่ เวลาอยู่โต๊ะมีน้อย น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ (จึงต้องทำไคเซ็นไง !) ตัวอย่างอื่นๆ ก็เช่น อุปกรณ์ไม่เพียงพอต้องรอคิวกันใช้งาน หรือคนนั้นคนนี้ไม่มา งานก็เลยติดขัดทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะรู้ข้อมูลงานหรือที่จัดเก็บเอกสารอยู่คนเดียว ต้องโทรไปถามกันให้วุ่นวาย ยังมีเรื่องรออีกเยอะครับ รอคำสั่ง รอผู้เข้าร่วมประชุม รอกันไปรอกันมา รอ รอ รอ และรอ
- การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น
ตำแหน่งการวางสิ่งของต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ อะไรใช้บ่อย ใช้ไม่บ่อย จะวางตรงไหนให้หยิบใช้ได้สะดวก ไม่ต้องเอื้อม ไม่ต้องก้มต้องเงย เอี้ยวหน้าเอี้ยวหลัง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินที่ไม่จำเป็นลงด้วย ตัวอย่างการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น เช่น จะถ่ายเอกสารซักแผ่น แต่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนี้
- เดินไปที่กล่องใส่กระดาษ Reuse
- ก้มลงหยิบกระดาษ (เพราะกล่องวางอยู่บนพื้น)
- เดินไปที่ตำแหน่งใส่กระดาษของเครื่องถ่ายเอกสาร (เพราะกล่องดันวางอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเครื่อง)
- พลิกกระดาษเพื่อหงายหน้าที่ถูกต้องขึ้น (เพราะกระดาษไม่ได้หงายหน้าที่ถูกต้องไว้ก่อน)
- ใส่กระดาษเข้าเครื่อง
- ฯลฯ
บางครั้งยังต้องมาแกะลวดเย็บกระดาษออกก่อนอีก หากกำลังรีบๆ อยู่ และต้องมาเสียเวลาแบบนี้ ก็คงต้องบ่นกันหน่อยล่ะ นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆให้มองเห็นภาพ ลองตรวจสอบที่ทำงานท่านและไคเซ็นดูนะครับ
- งานหลายขั้นตอน
เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนหงุดหงิดรำคาญใจไม่น้อยทีเดียว เห็นด้วยไหมครับว่าหลายๆงานที่เราทำกันอยู่นั้นขั้นตอนมันเยอะซะจริงๆ น่าจะลดๆลงได้บ้าง แบบฟอร์มบางอย่างก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไม แต่ไม่เขียนก็ไม่ได้ บอกต้องทำตามระบบ (ระบบก็เกิดจากคนนี่แหละ แล้วทำไมจะแก้ไม่ได้) บางงานผู้เกี่ยวข้องก็เยอะซะเหลือเกิน ต้องส่งให้พิจารณากันหลายขั้นตอน กว่าจะฝ่าด่าน 18 มนุษย์ทองคำได้ เสียเวลาไปหลายวัน ตามกันซะเหนื่อยใจ
ผมแนะนำให้ใช้หลัก E-C-R-S ครับ โดยเฉพาะ Eliminate กับ Combine ขั้นตอนไหนยกเลิกได้ ยุบรวมกันได้ ลองพิจารณากันดูให้ดี ถ้าตั้งใจและเปิดใจที่จะเปลี่ยนแปลง รับรองว่าปรับปรุงได้แน่นอนครับ
- งานซ้ำซ้อน
ที่หน้างานการผลิตของโรงงานแห่งหนึ่ง พบว่ามีการบันทึกข้อมูลเดียวกันลงในสมุดสองเล่ม พอลองนำสมุดสองเล่มนั้นมาเปรียบเทียบกันดู พบว่าข้อมูลที่บันทึกซ้ำกันซะเป็นส่วนใหญ่ ถามไปถามมาได้ความว่า ที่จริงแล้วเล่มนึงเป็นของแผนก QC ส่วนอีกเล่มนึงเป็นของแผนกผลิต เมื่อใครได้ข้อมูลมาก็ต้องลงบันทึกทั้งในสมุดของแผนกตัวเองและสมุดของอีกแผนกหนึ่งด้วย เลยแนะนำให้คุยกันว่าจะสามารถจดบันทึกรวมเป็นเล่มเดียวกันได้หรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างงานซ้ำซ้อนที่พบได้ทั่วไปในส่วนของการผลิต
ส่วนสำนักงานเองก็ไม่ต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น เลขาที่ทำหน้าที่จดบันทึกการประชุม ได้จดบันทึกรายละเอียดการประชุมลงในสมุดจด หลังจากนั้นจึงนำไปคีย์ลงคอม แล้วส่งเมลให้ผู้เข้าร่วมประชุม กรณีนี้หากนำโน้ตบุ๊คเข้ามาพิมพ์ในห้องประชุมเสียเลยตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องทำงานถึงสองครั้ง สำหรับงานที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันก็ควรจะมีผู้รับผิดชอบและวิธีการจัดการที่เป็นมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่รับผิดชอบกันหลายคน หลายมาตรฐาน หลายรูปแบบ หรือต่างคนต่างทำ บางทีไม่รู้กัน ก็ทำซ้ำซ้อน เสียเวลา และเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ บางครั้งอาจพาให้ทะเลาะกันได้อีกต่างหาก
- อุปกรณ์ขัดข้อง
ลองจินตนาการดูว่า หากเราเปิดเครื่องคอมขึ้นมาในตอนเช้าเพื่อจะเริ่มทำงาน แต่หน้าจอดันไม่ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือกำลังพิมพ์งานอยู่ดีๆ หน้าจอก็ค้างไปซะเฉยๆ กดอะไรก็ไม่ขยับเขยื้อน หรือจะส่งอีเมลแต่ก็ส่งไม่ได้ ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้คงทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสียไม่ใช่น้อย … ฮึ่มๆ !! @%&##*
ไม่เฉพาะแต่กับเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่เมื่อขัดข้องแล้ว ทำให้งานติดขัดชะงักงัน (รวมทั้งอารมณ์เสียด้วย) แต่อุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร โทรสาร เครื่องพิมพ์ ฯลฯ เหล่านี้ หากต้องการใช้ แต่เกิดขัดข้องขึ้นมาก็คงให้ผลไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้งานอุปกรณ์สำนักงานอย่างถูกวิธี การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมทั้งปรับปรุงเพื่อลดการขัดข้อง จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการจัดการงานสำนักงาน
- จัดเก็บมากเกินจำเป็น
ฝ่ายที่เป็นผู้รับผิดชอบห้องเก็บ Spare Part ของหลายโรงงาน มักได้รับนโยบายให้ลดปริมาณ Stock ลง ผมเคยลองสอบถามมูลค่าของของที่เก็บในห้อง Spare Part แต่ละที่ที่มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม พบว่าบางแห่งมีมูลค่าสูงจนน่าตกใจ เป็นหลักสิบล้านก็มี แถมมี Dead Stock เพียบ ในขณะที่ของบางอย่างหากต้องการใช้ กลับไม่มีให้เบิก ???
แม้ว่าของที่จัดเก็บในสำนักงานจะมีมูลค่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับฝ่ายโรงงาน แต่ก็เป็นต้นทุนจมที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นสมุด ดินสอ ปากกา แผ่นซีดี หรือกระดาษขนาดต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้ควรมีปริมาณการจัดเก็บที่เหมาะสม ควรกำหนดระดับ Max - Min และจุดสั่งซื้อหรือรอบเวลาสั่งซื้อเสียให้ชัดเจน นอกจากสิ่งของที่ซื้อหามาจากภายนอกแล้ว พวกแบบฟอร์มที่ใช้กันภายในก็ไม่ควรถ่ายเอกสารเก็บไว้มากๆ เพราะหากต้องการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ก็ต้องรอให้แบบฟอร์มเก่าหมดก่อน หรือไม่ก็ต้องทิ้ง นับเป็นความสูญเปล่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ควรกำหนดอายุการจัดเก็บเอกสารต่างๆให้พอเหมาะพอสมด้วย ครบอายุแล้วก็จัดการสะสางเสียให้เรียบร้อย
- การตรวจสอบ
เคยได้ยินผู้จัดการบางคนบ่นลูกน้องตัวเองว่า ทำงานผิดอยู่เรื่อย จึงต้องตรวจสอบงานก่อนส่งออกจากแผนกทุกครั้ง งานตัวเองก็เยอะ แต่จะปล่อยไปก็ไม่กล้า ยิ่งเกี่ยวกับตัวเลขยิ่งกังวล พอตรวจทีไรก็เจอที่ผิดทุกที ทำให้ไม่มั่นใจเข้าไปใหญ่ คนตรวจก็เบื่อ ! คนทำก็เซ็ง !
การตรวจสอบไม่ใช่งานที่มีมูลค่าเพิ่ม ถ้าทำให้ถูกต้องเสียตั้งแต่แรกก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ หรืออย่างน้อยผู้ทำก็ควรจะตรวจสอบงานที่ตัวเองทำ ไม่ใช่ข้าทำ เอ็งตรวจ แบบนี้งานก็ไม่ไปไหน ตรวจแล้วแก้ ๆ อยู่ร่ำไป
ยังมีความสูญเปล่าอีกมากทั้งในส่วนของสำนักงานและฝ่ายผลิต สำหรับสำนักงานนั้นมีเครื่องมือหลายตัวที่ช่วยให้เรามองเห็นความสูญเปล่าของงานที่ทำได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ไคเซ็นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้แผนภูมิวิเคราะห์ขั้นตอนการไหลของงานธุรการ, การใช้ Brown Paper Analysis หรือ Makigami เป็นต้น แต่อย่าไปยึดติดกับเครื่องมือให้มาก หลักการคือ ทำอย่างไรให้เรามองเห็นระบบงานที่ทำทั้งหมดแบบเข้าใจได้ง่ายๆ ตรงกันทุกคน สามารถระดมสมองเพื่อคิดไคเซ็นดีๆออกมาได้เยอะๆ ถ้าทำได้ตามนี้จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ถนัดเลยครับ