Home › Page › ความเป็นมา

ความเป็นมา

 

ส.ส.ท. ริเริ่มให้มีการจัดงานประกวด การนำเสนอผลงาน QC Circle ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ภายใต้ชื่อ “งานมหกรรม QC Circle” ซึ่งได้รับความสนใจจากสมาชิก QCC ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก จนต่อมา ส.ส.ท. พิจารณาเห็นว่าการจัดงานเสนอผลงาน QC Circle ในรูปแบบเดิม มีหลายหน่วยงานจัดงานในรูปแบบเดียวกันนี้ คณะอนุกรรมการโครงการคิวซี ปี พ.ศ. 2531-2532 โดย ผศ.บัญญัติ สุรการวิทย์ เป็นประธาน และกรรมการ ได้แก่ คุณยุทธ์ (นพ-พร)  พยัฆวิเชียร, ดร.นพกร (ประวิทย์) จงวิศาล และคุณเก่งกาจ งามขจรวิวัฒน์ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการ การจัดเสนอผลงาน QC Circle ในรูปแบบใหม่ โดยทั้ง 4 ท่าน เห็นพ้องต้องกันว่า ส.ส.ท. เป็นองค์กรที่มีความพร้อม ทั้งด้านกำลังทรัพย์ (มีงบสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมบางส่วน จากประเทศญี่ปุ่น) ด้านการจัดการ และความพร้อมของบุคลากร จึงไม่ยากที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเสนอผลงาน QC Circle ของประเทศไทย ประกอบกับประสบการณ์จากการดำเนินงานมาหลายปี ก็พิจารณาเห็นว่า หลายองค์กรที่มีการทำกิจกรรม QC Circle มาอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีประสบการณ์และความสามารถค่อนข้างสูง ถ้าแข่งขันกับกลุ่มกิจกรรมที่เพิ่งทำเป็นเรื่องแรก หรือเรื่องที่สอง ความได้เปรียบของกลุ่มที่ทำมานานแล้วคงมีมากกว่า ดังนั้นกลุ่มที่เก่ง และดีเด่นจากหลายหน่วยงาน ควรมีเวทีการแข่งขันเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นที่มาของ QC Prize โดยกลุ่มที่จะได้รับ QC Prize  ต้องเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรม QC Circle อย่างต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง โดยมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนการตรวจ คัดเลือกอย่างเข้มงวด 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกจากเอกสารสรุปกิจกรรมของกลุ่มที่ส่งเข้ามา

ขั้นตอนที่ 2 กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ 1 จะต้องมาเสนอผลงาน QC Circle ให้คณะกรรมการพิจารณา

ขั้นตอนที่ 3 กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกจากขั้นตอนที่ 2 ผู้แทนคณะกรรมการฯ จะทำการตรวจผลงาน ณ สถานปฏิบัติงานโดยการ

3.1   สัมภาษณ์ผู้บริหารเกี่ยวกับ โครงสร้างการบริหาร QCC, นโยบาย, แผนการฝึกอบรม,การประชาสัมพันธ์, การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร และแนวทางการพัฒนา QCC

3.2   สัมภาษณ์กลุ่ม QC เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรม การนำมาตรฐานไปปฏิบัติ การรักษามาตรฐานความต่อเนื่องของการดำเนินการ ความสอดคล้องกับความเป็นจริงตามที่เสนอ และการปฏิบัติงานของกลุ่ม

ซึ่งกลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว จะได้รับเชิญเข้าร่วมเสนอผลงาน QCC เพื่อชิงชนะเลิศ และรับ QC Prize ในงานประกาศผล QC Prize ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยกลุ่มที่สามารถร่วมเสนอผลงาน ในวันประกาศผล QC Prize นั้น ถือเป็นโอกาสอันดีของสมาชิกกลุ่ม QC ที่จะได้แสดงความสามารถของตนต่อสาธารณชน และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกลุ่ม QC ด้วยกันได้อีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 โครงการคิวซี เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการส่งเสริมคุณภาพ เพื่อให้เหมาะสมกับขอบข่ายของงานด้านคุณภาพ และการมาตรฐานต่าง ๆ โดยมีคณะที่ปรึกษา 3 ท่าน คือ คุณรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์, คุณถาวร ชลัษเฐียร และอาจารย์เจริญ สุนทราวาณิชย์ ซึ่งทั้ง 3 ท่าน ได้ให้คำปรึกษาร่วมกับ ดร.นพกร จงวิศาล ประธานโครงการส่งเสริมคุณภาพ ทบทวนถึงวัตถุประสงค์ของการมอบ QC Prize  เมื่อครั้งก่อนของคณะผู้ก่อตั้งรางวัล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะมอบ TROPHY QC Prize ให้แก่กลุ่มที่ได้รับ QC Prize มาแล้ว 3 ครั้ง ภายในเวลา 5 ปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้กลุ่ม QC ที่เคยได้รับ QC Prize ไปแล้วดำเนินกิจกรรม QC Circle ต่อไป อย่างต่อเนื่อง

และจากประสบการณ์การมอบ QC  Prize ให้แก่กลุ่มดีเด่นมาถึง 7 ปี จะสังเกตเห็นว่า หน่วยงานที่ได้รับ QC Prize เสมอ ๆ มักเป็นหน่วยงานที่มาจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากผู้บริหารหน่วยงานเท่านั้น ส่วนหน่วยงานเล็ก ๆ และบริษัทใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำ QC Circle ก็ควรจะมีโอกาสที่จะได้แข่งขัน หรือได้เผยแพร่ความสามารถด้วย คณะที่ปรึกษาโครงการฯ จึงเห็นสมควรให้เพิ่มรางวัล Junior QC Prize  ขึ้นอีก 1 รางวัล เพื่อมอบให้แก่กลุ่มที่ทำ QC Circle มายังไม่ถึง 5 เรื่อง ซึ่งกลุ่ม QC ที่สามารถรับ Junior QC Prize ได้ ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวดถึง 3 ขั้นตอนเหมือนกับการคัดเลือก QC Prize เช่นกัน

อนึ่ง จากการไปตรวจผลงานกลุ่ม QC ณ สถานปฏิบัติการจริง พบว่าผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมผลักดันให้ QC Circle นั้นดำเนินไปได้อย่างไม่มีอุปสรรคนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลุ่มที่ดำเนินการ QCC ส.ส.ท. จึงเพิ่มรางวัลอันทรงเกียรติ ประเภทบุคคล เพื่อประกาศเกียรติคุณขึ้นมาอีก 2 รางวัลคือ TQC Promoter Award และ QC Facilitator Award ให้แก่ผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและผลักดัน QCC และ TQC ให้แพร่หลายในเมืองไทย และรางวัลประเภทองค์กรอีก 1 รางวัลคือ TPA Quality Prize

ในปี พ.ศ. 2541 โครงการส่งเสริมคุณภาพ เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มวิชาส่งเสริมคุณภาพ และมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ส.ส.ท. และของประเทศ โดยมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมทางด้านการมาตรฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้น และริเริ่มให้จัดงาน Quality Week ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งงานประกาศผล QC Prize และ Junior QC Prize จัดอยู่ภายใต้งานนี้ ตลอดจนในงานประกาศผล QC Prize  ครั้งที่ 11 นี้ คณะกรรมการอำนวยการ พิจารณาเห็นว่าควรเปลี่ยนรูปแบบงานในวันประกาศผล QC Prize ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ จึงได้เพิ่มขั้นตอนพิจารณาอีกขั้นตอนคือ กลุ่มที่เข้าร่วมเสนอผลงานในวันประกาศผล QC Prize  จะต้องแข่งขันชิงชนะเลิศ เพื่อรับรางวัล QC Prize ดีเด่น ตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานดังนี้

1. เปลี่ยนชื่อรางวัลจาก QC Promoter Award เป็น QC Promoter Award for Top Management

2. ชะลอรางวัล TPA Quality Prize และหาแนวทางในการพิจารณาที่เหมาะสมต่อไป

3. TQC Promoter Award ให้ยกเลิกไปก่อน เพื่อตั้งชื่อใหม่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ส.ส.ท. เล็งเห็นว่า QCC เป็นรากฐานที่สำคัญของการบริหารระบบคุณภาพขององค์กร ซึ่งถือเป็นรากฐานในการที่จะพัฒนาสู่ระบบคุณภาพอื่น ๆ รวมทั้ง เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงาน สร้างให้เกิดกระบวนการทางด้านความคิดในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหา และเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับ QCC มีการนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กร ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรเปลี่ยนชื่องานเป็น “Thailand Quality Prize” นับแต่นั้นเป็นต้นมา จนปี พ.ศ. 2548 ส.ส.ท. เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจบริการที่นับวัน ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิต ประจำวัน มากขึ้น และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรและคุณภาพในงานบริการ จึงมีความสำคัญเช่นกัน ประกอบกับ ส.ส.ท. มีความพยายามสนับสนุนกิจกรรม QC Circle ในธุรกิจบริการมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ส.ส.ท. จึงริเริ่มให้มีการเพิ่มรางวัล QCC ประเภทงานบริการ ขึ้นมาอีกหนึ่งรางวัล เพื่อเป็นการสนับสนุน และเป็นเวทีให้เกิดการยกระดับคุณภาพในงานบริการให้สูงยิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งเพิ่มและปรับปรุงระดับรางวัลเป็น 3 ระดับ คือ Diamond, Golden และ Silver พร้อมกันนี้ กลุ่มที่ได้รับรางวัล Diamond ในประเภทต่าง ๆ จะได้รับทุนสนับสนุนการไปทัศนศึกษาดูงานด้าน QCC ณ ประเทศต่าง ๆ ที่ ส.ส.ท. จัดขึ้นทุกปี

ปี พ.ศ. 2552 พิจารณาเพิ่มรางวัลอีก 2 รางวัล คือ New Born QCC Prize  (เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่ม QC ที่เพิ่งเริ่มทำในองค์กรขนาดกลางและเล็ก และยังไม่เคยส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ส.ส.ท.) และ Task Achieving QCC Prize  (เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่ม QC ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจของสถานประกอบการ ประกอบด้วยพนักงานระดับบริหารจากหลายหน่วยงาน โดยจะเน้นนโยบาย วัตถุประสงค์ และมีเป้าหมายของผู้บริหารอย่างชัดเจนในการมอบหมายให้ปฏิบัติสำหรับงานในอนาคต หรือก้าวกระโดดจากสถาพปัจจุบัน) และได้ปรับปรุงระดับรางวัลเป็น 4 ระดับ คือ Diamond, Golden, Silver และ Bronze

ปี พ.ศ. 2554  คณะกรรมการได้แบ่งประเภทรางวัลตามเนื้อหาหลักของกิจกรรมได้เป็น 3 ประเภท

1. กิจกรรมกลุ่มด้านการผลิต (Manufacturing QCC Prize) แบ่งตามระดับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมได้ 3 ระดับ คือ

Manufacturing QCC Prize

Junior Manufacturing QCC Prize

New Born Manufacturing QCC Prize

2. กิจกรรมกลุ่มด้านงานบริการและงานสนับสุน (Service QCC Prize)

Support Service QCC Prize

Business for Service QCC Prize

Office Service QCC Prize

3.  กิจกรรมกลุ่มด้านการบริหารข้ามสายงาน หรือด้านนโยบายสู่นวัตกรรม (Task Achieving QCC Prize)